ผู้กู้ กยศ. กว่า 2 ล้านราย เริ่มเบี้ยวหนี้ ตะลึง! มีเงินฝากกว่า 5 ล้าน ก็ไม่ชำระ

ผู้กู้ กยศ. กว่า 2 ล้านราย เริ่มเบี้ยวหนี้ ตะลึง! มีเงินฝากกว่า 5 ล้าน ก็ไม่ชำระ

สศช. เผยลูกหนี้ กยศ. กว่า 2 ล้านราย เริ่มผิดนัดชำระหนี้ พร้อมเปิดข้อมูลสืบทรัพย์ลูกหนี้ที่ถูกบังคับคดีเมื่อปี 2563 พบหลายสิบคนมีเงินฝากกว่า 5 ล้านบาท แต่เบี้ยวหนี้ ขณะที่อีกหลายร้อยคนมีความสามารถชำระได้แต่ไม่ชำระ แนะ กยศ. ไล่บี้ รวมถึงปรับวิธีการชำระให้เหมาะกับผู้กู้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จะต้องเข้าไปเร่งรัดการชำระหนี้ของลูกหนี้กว่า 2 ล้านราย ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ จากปัจจุบันที่ กยศ. มีลูกหนี้ที่มีสถานะอยู่ระหว่างการชำระหนี้ทั้งสิ้น 3.5 ล้านราย จากภาพรวมผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 6.4 ล้านราย

การเงิน

“ลูกหนี้ 3.5 ล้านรายอยู่ระหว่างชำระหนี้ เกือบครึ่งหนึ่งมีวินัย ชำระหนี้ปกติ ซึ่งต้องชื่นชม เพราะกลุ่มนี้คือ เห็นความสำคัญ จะช่วยให้กองทุนอยู่ได้ยั่งยืนในระยะยาว เพื่อสร้างโอกาสให้รุ่นน้อง แต่ขณะเดียวกัน อีกกว่า 2 ล้านราย ก็เริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้” นายดนุชากล่าว

ทั้งนี้ มีปัญหาหลายสาเหตุ ได้แก่ 1.ปัญหาจากตัวลูกหนี้ ได้แก่ พฤติกรรมนของตัวลูกหนี้ที่ขาดวินัยทางการเงิน โดยเฉพาะมีบางกลุ่มที่มีความสามารถในการชำระแต่ไม่ชำระ กลุ่มนี้คงต้องเร่งรัดให้ชำระ ซึ่งจากข้อมูลสืบทรัพย์ลูกหนี้ กยศ. ที่มีการบังคับคดีปี 2563 พบว่า 40 ราย มีเงินฝากมากกว่า 5 ล้านบาท ขณะที่อีก 431 ราย ก็มีเงินฝากตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท และอีก 637 ราย มีเงินฝากตั้งแต่ 5 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท ทั้งหมดนี้หากจะชำระหนี้ก็สามารถทำได้อย่างไม่ลำบาก ดังนั้น กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ต้องเร่งรัดให้มีการชำระหนี้
รวมถึงกลุ่มที่ประสบปัญหา หรือวิกฤตต่าง ๆ เช่น ตกงาน ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มใหญ่ และคงต้องเข้าไปดูเป็นรายบุคคล

2.ปัญหาจากกลไกการชำระหนี้ของ กยศ. ก็เป็นปัญหาหนึ่ง เพราะการชำระหนี้เป็นขั้นบันได ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าลุกหนี้มีปัญหาบางช่วงเวลา หรือเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ทำงานประจำ พอเริ่มมีการขยับบันไดขึ้น และอาจจะประสบปัญหาในช่วงนั้น ๆ ก็อาจจะมีการผิดนัด โดยเฉลี่ยจะเกิดปัญหาในปีที่ 6-7 ของการชำระหนี้

3.ปัญหาการดำเนินงานของกองทุนเอง เรื่องการไกล่เกลี่ย ปรับโครงสร้างหนี้ ติดกฎระเบียบ และทัศนคติของเจ้าหน้าที่ด้วยที่อาจจะไม่ได้ปรับแนวทางการชำระให้เหมาะกับรายได้ของผู้กู้

4.ปัญหาเชิงโครงสร้างของการศึกษา โดยผู้ที่จบการศึกษา ที่มีหลายสาขา ซึ่งแต่ละสาขาเงินเดือนไม่เท่ากัน รูปแบบการชำระจึงควรมีความเหมาะสมกับวุฒิการศึกษาและรายได้ แทนที่จะมีรูปแบบเดียว